วันอาทิตย์ที่ 1 มีนาคม พ.ศ. 2552

สาระสำคัญ

1. เทคโนโลยี เป็นวิทยาการที่เกี่ยวกับศิลปะในการนำเอาวิทยาศาสตร์ประยุกต์ มาใช้ให้เกิดประโยชน์ในทางอุตสาหกรรมและทางปฏิบัติ รวมไปถึงการเปลี่ยนแปลงพฤติกรรมของผู้เกี่ยวข้อง ทำให้มีการใช้เทคโนโลยีในสาขาต่าง ๆ เฉพาะทางเช่นการแพทย์ การกีฬา การสงคราม การศึกษา เป็นต้น
2. เทคโนโลยีการศึกษา เป็นกระบวนการที่พัฒนาระบบ และวิธีการตลอดจนการนำเครื่องมือและอุปกรณ์มาใช้ในการเรียนการสอน ให้มีประสิทธิภาพยิ่งขึ้น
3. เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา ประกอบด้วย ทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ การเรียนรู้แบบรายบุคคล เพื่อให้สอดคล้องกับปัญหาของโลกในอนาคต รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงในด้านความรู้ ค่านิยม เศรษฐกิจ สังคม โดยเน้นกระบวนการพัฒนาคนมากขึ้น
4. เทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทย มีแนวโน้มในการสนองความต้องการเป็นรายบุคคล และให้ความสำคัญต่อการนำไปใช้ในการจัดการศึกษามากขึ้น เพื่อให้สอดคล้องกับการเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ พ.ศ.2542

จุดมุ่งหมายเชิงพฤติกรรม

1. อธิบายความหมาย และความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษาได้ถูกต้อง
2. อธิบายมโนทัศน์ของเทคโนโลยีการศึกษา และยกตัวอย่างเทคโนโลยีการศึกษาที่เหมาะสมได้
3. อธิบายและเปรียบเทียบลักษณะของเทคโนโลยีการศึกษา และนวัตกรรมการศึกษาได้
4. อธิบาย และเล่าประวัติความเป็นมา เกี่ยวกับการใช้เทคโนโลยีการศึกษาได้
5. อธิบายพัฒนาการของเทคโนโลยีการศึกษาได้ถูกต้องตามลำดับ
6. บอกเป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษาได้
7. อธิบายแนวโน้มของการใช้เทคโนโลยีการศึกษา ตาม พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติ ฉบับ พ.ศ.2542 ได้

ความหมายของเทคโนโลยี

เทคโนโลยี (Technology) มีรากศัพท์มาจากภาษากรีก คือTech = Art ในภาษาอังกฤษ Logos = A study ofดังนั้น คำว่า เทคโนโลยี จึงหมายถึง A study of art ซึ่งได้มีผู้แปลความหมาย สรุป ได้ว่า เทคโนโลยี หมายถึง การนำความรู้ทางวิทยาศาสตร์ และระเบียบวิธีทางวิทยาศาสตร์มาใช้ให้เป็นประโยชน์ในการพัฒนาและปฏิบัติงาน อย่างเป็นระบบ โดยสามารถนำไปใช้ในสาขาต่าง ๆ กัน และเรียกชื่อไปตามสาขาที่ใช้ เช่น

- เทคโนโลยีการเกษตร
: การคิดค้นวิธีการเครื่องมือ ปัจจัยในการผลิต ทางการเกษตร

- เทคโนโลยีการคมนาคมขนส่ง
: การคิดค้นเกี่ยวกับยานพาหนะ การเดินทาง การขนส่ง

- เทคโนโลยีการแพทย์
: การคิดค้นการตรวจรักษาโรค การผลิตยา และเครื่องมือทางการแพทย์

- เทคโนโลยีชีวิตประจำวัน
: การประดิษฐ์เสื้อผ้า เครื่องใช้ในที่อยู่อาศัย อุปกรณ์อำนวยความสะดวก

- เทคโนโลยีการสงคราม
: อาวุธนิวเคลียร์

- เทคโนโลยีการสื่อสาร
: การเก็บรวบรวมการค้นหา การส่งข้อมูลทั้ง ทางโทรเลข โทรศัพท์ วิทยุ คอมพิวเตอร์

- เทคโนโลยีการศึกษา
: วิธีการให้ความรู้ ที่เกี่ยวข้องกับการวิธีการให้ การศึกษาสื่อการศึกษา และครุภัณฑ์ทางการ ศึกษาสรุปเป็น

ประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้อง ดังนี้
1. ความหมายของเทคโนโลยีการศึกษา ก็คือ ศาสตร์ว่าด้วยวิธีการทางการศึกษา การพัฒนา และการประยุกต์วัสดุ เครื่องมือ วิธีการ เพื่อนำมาใช้ในสถานการณ์การเรียนการสอนได้อย่างเหมาะสม ทั้งนี้เพื่อประสิทธิภาพการเรียนรู้ของคนให้ดียิ่งขึ้น
2. นักเทคโนโลยี (Technologist) คือผู้นำเอาเทคโนโลยีมาใช้
3. ช่างเทคนิค (Technician) คือผู้ที่มีความรู้เกี่ยวกับการซ่อมเครื่องมือเพื่อให้เครื่องมือทำงานได้ดีที่สุด

มโนทัศน์ของเทคโนโลยีการศึกษา

เทคโนโลยีทางการศึกษา เป็นการขยายแนวคิดเกี่ยวกับโสตทัศน์ศึกษาให้กว้างขวาง ยิ่งขึ้น ทั้งนี้เนื่องจากโสตทัศนศึกษาหมายถึง การศึกษาเกี่ยวกับการใช้ตาดูหูฟัง ดังนั้นอุปกรณ์ในสมัยก่อนมักเน้นการใช้ประสาทสัมผัส ด้านการฟังและการดูเป็นหลัก จึงใช้คำว่าโสตทัศนอุปกรณ์ หรือโสตทัศนูปกรณ์เทคโนโลยีทางการศึกษามีความหมายที่กว้างกว่า ซึ่งอาจพิจารณาจากความคิดรวบยอดของเทคโนโลยีได้เป็น 2 ประการ ดังนี้
1.2.1 ความคิดรวบยอดทางวิทยาศาสตร์กายภาพ หมายถึง การประยุกต์วิทยาศาสตร์กายภาพ ในรูปของสิ่งประดิษฐ์ เช่น เครื่องฉายภาพยนตร์โทรทัศน์ ฯลฯ มาใช้สำหรับการเรียนรู้ของนักเรียนเป็นส่วนใหญ่ การใช้เครื่องมือเหล่า มักคำนึงถึงเฉพาะการควบคุมให้เครื่องทำงาน เน้นเรื่องวัสดุ อุปกรณ์ มากกว่าจะคำนึงถึงจิตวิทยาการเรียนรู้ โดยเฉพาะเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคลและการเลือกสื่อให้ตรงกับเนื้อหาวิชา
1.2.2 ความคิดรวบยอดทางพฤติกรรมศาสตร์ หมายถึง การนำวิธีการทางจิตวิทยา มานุษยวิทยา กระบวนการกลุ่ม ภาษา การสื่อความหมาย การบริหาร เครื่องยนต์กลไก การรับรู้มาใช้ควบคู่กับผลิตกรรมทางวิทยาศาสตร์และวิศวกรรม เพื่อให้ผู้เรียนเปลี่ยนพฤติกรรมการเรียนรู้อย่างมีประสิทธิภาพซึ่งจะเน้นเรื่องเทคนิคที่เป็นวิธีการ และกระบวนการเรียนการสอนมากกว่าวัสดุ และเครื่องมือ

เทคโนโลยีและนวัตกรรมการศึกษา

การนำเอาเทคโนโลยีทางการศึกษาไปใช้ในกระบวนการเรียนการสอนนั้น เรามักจะพบ ว่าเมื่อสถานการณ์ของการใช้เปลี่ยนแปลงไป เช่น ชั้นเรียนที่ผู้เรียนเปลี่ยนไป หรือเวลาที่ต่างกัน สิ่งเหล่านี้ มีผลต่อประสิทธิภาพของวิธีการที่ผู้สอนนำไปใช้ในการเรียนการสอนทั้งสิ้น ในกรณีที่ใช้วิธีการนั้นต่อไป ซึ่งนับว่าเป็นการใช้เทคโนโลยี แต่ในกรณีที่ประสิทธิภาพลดลง ก็มีความจำเป็นที่จะต้องปรับปรุงวิธีการนั้น ๆ หรืออาจต้องหาวิธีการใหม่ ๆ มาใช้ สิ่งใหม่ที่นำมาใช้หรือวิธีการที่ได้รับนำเอาการปรับปรุงเพื่อเพิ่มประสิทธิภาพนี้เรียกว่า นวัตกรรม (Innovation)

นวัตกรรม = นว (ใหม่) + อัตตา (ตนเอง) + กรรม (การกระทำ)

ในการดำเนินกิจกรรมด้านต่าง ๆ มักจะเผชิญปัญหาต่าง ๆ มากมายมนุษย์จึงพยายามสร้างนวัตกรรมขึ้นมาเพื่อแก้ปัญหา เพื่อเปลี่ยนจากสภาพที่เคยเป็นอยู่ไปสู่สภาพที่อยากเป็น นวัตกรรมจึงเข้าไปเกี่ยวข้องกับวงการต่าง ๆ เช่น นวัตกรรมทางการแพทย์ นวัตกรรมทางการเกษตร นวัตกรรมทางอุตสาหกรรม นวัตกรรมทางการบริหาร นวัตกรรมทางการประมง นวัตกรรมทางการสื่อสาร นวัตกรรมทางการศึกษา ฯลฯ เป็นต้นลักษณะของนวัตกรรม สิ่งที่ต้องจัดว่าเป็นนวัตกรรม ควรประกอบด้วยลักษณะ ดังนี้
1. จะต้องเป็นการสร้างสรรค์ขึ้นใหม่ (creative) และเป็นความคิดที่สามารถปฏิบัติได้ (Feasible ideas)
2. จะต้องสามารถนำไปใช้ได้ผลจริงจัง (practical application)
3. มีการแพร่ออกไปสู่ชุมชน (diffusion through)

พัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษา

ชาวกรีกโบราณ ได้ใช้วัสดุและวิธีการในการสอนประวัติศาสตร์ และหน้าที่พลเมือง ด้วย การแสดงละครเพื่อสร้างเจตคติทางจรรยาและการเมือง ใช้ดนตรีเพื่อสร้างอารมณ์ และยังได้ย้ำถึงความสำคัญของการศึกษานอกสถานที่ด้วย นอกจากนี้การสอนศิลปวิจักษ์ในสมัยนั้นได้ใช้รูปปั้น และงานแกะสลักช่วยสอน ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทัศนวัสดุในการสอนแทนการปาฐกถาอย่างเดียว

เพลโต นักปราชญ์ชาวกรีก ได้ย้ำถึงความสำคัญของคำพูดที่ใช้กันนั้นว่า เมื่อพูดไปแล้วอะไรเป็นความหมายที่อยู่เบื้องหลังสิ่งนั้น จึงได้กระตุ้นให้ใช้วัตถุประกอบเพื่อช่วยให้เข้าใจได้ดีขึ้น

ฟรานซิส เบคอน (ค.ศ.1561-1626) สนับสนุนวิธีใหม่ ๆ แบบ Realism คือหันมายึดวัตถุและความคิด โดยเสนอแนะว่า การเรียนการสอนนั้น ควรให้ผู้เรียนได้รู้จักสังเกต พิจารณา เหตุผลในชีวิตจริง โดยครูเป็นผู้นำให้นักเรียนคิดหาวิธีแก้ปัญหาซึ่งจะต้องอาศัยการสังเกตพิจารณานั่นเอง ไม่ใช่ครูเป็นผู้บอกเสียทุกอย่าง

โจฮันน์ อะมอส คอมินิอุส (Johannes Amos Comenius ค.ศ.1592-1670) เป็นผู้ที่พยายามใช้วัตถุ สิ่งของช่วยในการสอนอย่างจริงจัง จนได้รับเกียรติว่าเป็นบิดาแห่งโสตทัศนศึกษา คอมินิอุสได้แต่งหนังสือสำคัญ ๆ ไว้มากมาย ที่สำคัญยิ่งคือ หนังสือ Obis Sensualium Pictus หรือ "โลกในรูปภาพ" ซึ่งพิมพ์ครั้งแรกในปี ค.ศ.1685 เป็นหนังสือที่ใช้รูปภาพประกอบบทเรียน ถึง 150 ภาพ ซึ่งนับว่าเป็นการใช้ทัศนวัสดุประกอบการเรียนเป็นครั้งแรกธอร์นไดค์ (thorndike) เป็นนักจิตวิทยาการศึกษาชาวอเมริกันที่ใช้วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีทางการศึกษาประกอบหลักการทางจิตวิทยา โดยได้ทดลองทางจิตวิทยาเกี่ยวกับ การตอบสนองของสัตว์และมนุษย์ เขาได้ออกแบบสื่อการสอน เพื่อให้ตอบสนองเรื่องความแตกต่างระหว่างบุคคล โดยเฉพาะอย่างยิ่งการสอนแบบโปรแกรมจึงได้ชื่อว่า เป็นคนแรกที่ริเริ่มเทคโนโลยีการศึกษาแนวใหม่

บี เอฟ สกินเนอร์ (B.F.Skinner) เป็นผู้ใช้แนวความคิดใหม่ทางจิตวิทยาเกี่ยวกับสิ่งเร้าและผลตอบสนองโดยคำนึงถึงธรรมชาติของมนุษย์ เขาได้ทำการทดลองกับสัตว์โดยฝึกเป็นขั้น ๆ เป็นผู้ที่มีชื่อเสียงในการสอนแบบโปรแกรม และเป็นผู้ที่คิดเครื่องช่วยสอนได้เป็นผลสำเร็จเป็นคนแรก แนวคิดทางเทคโนโลยีการศึกษาปัจจุบัน ได้รากฐานมาจากแนวความคิดของสกินเนอร์เป็นส่วนมาก

สำหรับพัฒนาการทางเทคโนโลยีการศึกษาในประเทศไทยนั้น ได้มีการให้ความสำคัญต่อเทคโนโลยีการศึกษา ทั้งในด้านการจัดตั้งหน่วยงานด้านเทคโนโลยีการศึกษา ในหน่วยงานต่าง ๆ ทั้งภาครัฐบาลและเอกชน ตลอดจนมีการเปิดการเรียนการสอนด้านเทคโนโลยีการศึกษาระดับปริญญาตรี-โท-เอก ในสถาบันการศึกษาระดับอุดมศึกษา ทั้งนี้เพื่อให้สอดคล้องกับ พ.ร.บ.การศึกษาแห่งชาติฉบับ พ.ศ.2542 ที่เน้นความสำคัญของเทคโนโลยีการศึกษาเพื่อให้สอดคล้องกับความเปลี่ยนแปลงและความเจริญก้าวหน้าของเทคโนโลยีนั่นเอง

เป้าหมายของเทคโนโลยีการศึกษา

การพัฒนาเทคโนโลยีการศึกษาที่ใช้ในกระบวนการเรียนการสอน เพื่อให้เกิด ประสิทธิภาพ ทันต่อความเปลี่ยนแปลงของสังคม เศรษฐกิจ การเมือง อุตสาหกรรม นั้น จำเป็นต้องกำหนดเป้าหมายดังนี้
1.5.1 ขยายขอบเขตของทรัพยากรการเรียนรู้ต่าง ๆ ให้กว้างขวางออกไป โดยคำนึงถึง
1) คน กำหนดให้คนเป็นแหล่งทรัพยากรเรียนรู้ที่สำคัญ เช่น ครู ตำรวจ เกษตรกร
2) วัสดุเครื่องมือ ประเภทโสตทัศนูปกรณ์ รวมทั้งการใช้สื่อมวลชนเพื่อการศึกษาให้มากขึ้น
3) เทคนิคการสอน ที่เน้นให้ผู้เรียนสามารถเรียนรู้ได้ด้วยตนเอง
4) สถานที่ต่าง ๆ ให้สามารถเป็นแหล่งประสบการณ์การเรียนรู้ของผู้เรียน เช่น ไร่นา ทะเล องค์การรัฐบาล1.5.2 เน้นการเรียนแบบเอกัตบุคคล โดยการจัดหาสื่อเพื่อสนองความต้องการ และ ความแตกต่างระหว่างบุคคล
1.5.3 การนำวิธีวิเคราะห์ระบบการศึกษา โดยใช้การปฏิบัติหรือการแก้ปัญหาอย่างเป็นระบบมาใช้ในการเรียนการสอน